วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

เรียนรู้สื่อการสอนทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับอนุบาล







               สื่อการสอน หมายถึง อุปกรณ์และเทคนิคหรือวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยให้การจัดการเรียนรู้บรรลุจุดมุ่งหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแบ่งออกได้หลายชนิดด้วยกัน เช่น สื่อที่เป็นวัสดุได้แก่ กระดาษ กาว ตำรา แผนภูมิ รูปภาพ สื่อที่เป็นเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องเทป เครื่องฉายสไลด์ การแสดง การละเล่น หุ่นละคร พวกนี้จะเป็นเครื่องมือที่เป็นกลไก นอกจากนี้ยังมีแหล่งการเรียนรู้ที่เป็นสภาพแวดล้อม บุคคลสถานที่ เช่น ห้องสมุด เป็นต้น
              
              ความสำคัญของสื่อ
1. เป็นเครื่องมือส่งเสริมเด็กให้กล้าแสดงออกและเกิดการเรียนรู้ อย่างมีประสิทธิภาพ
2. เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติ ค่า นิยม หรือทักษะของผู้สอนไปสู่ผู้เรียน
3. เป็นเครื่องมือเร้าความสนใจของเด็ก ให้ติดตามเรื่องราวด้วย ความสนใจ และไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นการ เรียน
4. เป็นเครื่องมือทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม และผู้เรียน ได้รับประสบการณ์ตรงทำให้จำได้นาน

                คุณค่าของสื่อการสอนที่มีต่อเด็กปฐมวัย
1. ช่วยให้คุณภาพการเรียนรู้ดีขึ้น เพราะตรงกับความเป็นจริง และมีความหมายชัดเจน
2. เรียนรู้ได้มากขึ้นในเวลาที่กำหนด
3. เด็กปฐมวัยจำและประทับใจไม่ลืมง่าย
4. ช่วยให้เด็กปฐมวัยสนใจ มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน
5. ส่งเสริมการคิดและแก้ปัญหาในกระบวนการเรียนการสอน
6. สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่เรียนได้สะดวก
7. ทำสิ่งที่ซับซ้อนให้ง่ายขึ้น
8. ทำสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็วให้ช้าลง
9. นำสิ่งที่ไกลหรือลี้ลับมาศึกษาได้
10. นำอดีตมาใช้ศึกษาได้

                   ประเภทของสื่อการสอน
                  ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัยนั้น สื่อการสอนเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากเด็กปฐมวัยเรียนรู้ได้ดีจากการกระทำ การสัมผัสจับต้องด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 เด็กจะถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากประสบการณ์สู่การเรียนรู้ ความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 อย่างดังนี้
1. สื่อส่งเสริมพัฒนาการเฉพาะด้าน ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยมีอุปกรณ์ส่งเสริมดังนี้ ชิงช้า ไม้ลื่น ลูกบอล ลูกปัด ตัวต่อไม้บล็อกเป็นต้น
2. สื่อประกอบการเรียนรู้ เป็นสื่อที่ครูจัดหาหรือพัฒนาขึ้นเพื่อประกอบการเรียนรู้ เช่น บัตรคำ บัตรภาพ หุ่นมือ เป็นต้น สื่อประเภทนี้สามารถใช้สำหรับให้เด็กได้ค้นคว้าและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มากขึ้น
3. สื่อเสริมการเรียนรู้ เป็นสื่อที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือก ตัดสินใจ แก้ปัญหาในการใช้ได้เอง เช่น เกมการศึกษา เครื่องเล่นเป็นชุด ไม้บล็อก รวมทั้งวัสดุจากธรรมชาติที่อยู่แวดล้อมตัวเด็ก

                วิธีการเลือกใช้สื่อสำหรับเด็กและข้อควรระวังในการใช้สื่อ
การจะเลือกใช้สื่อในการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น ในเบื้องต้นผู้เลี้ยงดูเด็กจะ ต้องตระหนักและเข้าใจว่าเด็กปฐมวัยเป็นที่เพิ่งเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับ สิ่งแวดล้อมใหม่ที่เป็น พื้นฐานของการปรับตัวเพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ดังนั้นการจะสอนให้เด็กปฐมวัยมีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ต้องเข้าใจพื้นฐานพัฒนาการของเด็กว่า เด็กยังแยกแยะสิ่งที่พบเห็นไม่ออก ผู้เลี้ยงดูเด็กควรเลือกใช้สื่อเพื่อเปรียบเทียบให้เด็กเห็นความแตกต่าง ระหว่างสิ่งต่าง ๆ หรือการสอนความรู้ความเข้าใจเรื่องจำนวน การให้เด็กดูสัญลักษณ์ตัวเลข ควรเป็นเพียงการสร้างความคุ้นเคยเบื้องต้น แต่การสอนให้รู้จักจำนวน ควรใช้สื่อที่เด็กสนใจ เช่น ผู้เลี้ยงดูเด็กอาจจะเล่านิทานแล้วสอดแทรกเรื่องจำนวนในนิทาน อาจจะเป็นการนับจำนวนสัตว์ สิ่งของเป็นต้น การเลือกสื่อการสอนประเภทวัสดุ สื่อการสอนประเภทวัสดุกับเด็กปฐมวัย สื่อประเภทวัสดุมีความสำคัญต่อเด็กปฐมวัย เพราะเป็นเครื่องช่วยในการเรียนรู้ของเด็ก และเป็นสื่อซึ่งก่อให้เกิดความรู้เบื้องต้นแก่เด็กวิชาต่าง ๆ ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สุขศึกษา ธรรมชาติศึกษา สังคมศึกษา ศิลปะ เพลง ดนตรี จังหวะเคลื่อนไหว และเกมการเล่น วัสดุที่ใช้เป็นสื่อการสอน ได้แก่ วัสดุท้องถิ่น วัสดุเหลือใช้ วัสดุทำขึ้นเอง และวัสดุซื้อมาด้วย ราคาสูง วัสดุท้องถิ่น วัสดุท้องถิ่น หมายถึง สิ่งของที่มีอยู่ในท้องถิ่นตามภูมิประเทศ ซึ่งจะแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละภูมิประเทศ วัสดุท้องถิ่นที่เราพบเห็นในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้แก่ เปลือกหอย ก้อนหิน ปะการัง ทราย ก้อนแร่ ใบไม้ เม็ดมะกล่ำตาหนู ฟาง รังนก ต้นอ้อ เปลือกมะพร้าว ผลตาลแห้ง ก้านกล้วย ใบตอง ทางมะพร้าว เป็นต้น

การเลือกใช้ การนำวัสดุท้องถิ่นมาใช้เป็นสื่อนั้น ผู้เลี้ยงดูเด็กต้องวางแผนในการนำวัสดุมาใช้ และคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. มีความมุ่งหมายให้เด็กเรียนรู้วิชาใด
2. สิ่งที่เด็กสนใจ
3. วัสดุนั้นตรงกับเหตุการณ์และเวลาที่เด็กควรรู้หรือไม่
4. วัสดุนั้นสามารถนำมาใช้เป็นสื่อให้เด็กเรียนรู้ตรงตามความมุ่งหมายหรือไม่

              วัสดุเหลือใช้
              วัสดุเหลือใช้ หมายถึง สิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์แล้วและมีส่วนที่เหลือทิ้งไว้ ส่วนมากเมื่อได้ใช้ประโยชน์ของสิ่งนั้นแล้วก็มักทิ้งไปเลย เช่น กลักไม้ขีดไฟ กล่องสบู่ ทั้งกลักและกล่องนี้ เราเรียกว่า วัสดุเหลือใช้ วัสดุเหลือใช้ส่วนมาก เรานำมาใช้เป็นสื่อได้ทั้งสิ้น เช่น หลอดด้าย หลอดกาแฟ ถ้วยไอศครีม กระบอกข้าวหลาม ไม่ก้านธูป ถุงกระดาษ กล่องกระดาษ เศษผ้า ด้ามไม้กวาด กระดาษห่อท็อฟฟี่ กระป๋องแป้ง เปลือกไข่ ฯลฯ การพิจารณาเลือกวัสดุเหลือใช้มาเป็นสื่อนั้น ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการเลือกใช้วัสดุท้องถิ่น

                วัสดุทำขึ้นเอง
                วัสดุทำขึ้นเอง คือ วัสดุที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียน อาจทำขึ้นจากวัสดุท้องถิ่นหรือวัสดุเหลือใช้ บางทีวัสดุเหลือใช้ทำขึ้นเองนี้ นอกจากใช้เป็นสื่อสอนได้แล้วยังนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

               อุปกรณ์ประเภทเครื่องเสียง
               อุปกรณ์ประเภทเครื่องเสียง หมายถึง เครื่องมือที่ใช้เป็นสื่อในการฟังของเด็กเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เช่น เทป เครื่องบันทึกเสียง เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องรับวิทยุ เครื่องดนตรีต่าง ๆ ได้แก่ เปียโน ออร์แกน กลอง ฉิ่ง ฉาบ ระฆัง เหล็กสามเหลี่ยม ระนาด กรับพวง กลองรำมะนา แคน ขลุ่ย ซอ ไวโอลีน ฯลฯ นอกจากนี้ผู้เลี้ยงดูเด็กยังสามารถจัดทำอุปกรณ์ประเภทเครื่องเสียงขึ้นเอง เพื่อใช้เป็นสื่อการสอน เพลง ดนตรี และจังหวะ เช่น กรับมือ ลูกซัด กรุ๋งกริ๋ง ฆ้องกระแตก ตะเกียบ เป็นต้น

                อุปกรณ์ประเภทเครื่องฉาย
                อุปกรณ์ประเภทเครื่องฉาย หมายถึง เครื่องมือที่ใช้เป็นสื่อให้เห็นได้เป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือสามารถเห็นภาพและได้ยินเสียงพร้อมกันด้วย เช่น เครื่องฉายข้ามศีรษะ เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายฟิล์มสตริป เครื่องฉาย VDO เครื่องฉายภาพยนตร์ การเลือกใช้สื่ออุปกรณ์ประเภทเครื่องฉาย สามารถนำมาใช้ประกอบการสอน นิทาน การเล่าเรื่อง หรือการนำเสนอภาพที่อยู่ในสถานที่ห่างไกลที่เด็กไม่มีโอกาสไปดูเองได้ เช่น ภาพปิระมิด ภาพวัดพระแก้ว ภาพภูเขาไฟ เป็นต้น การนำเสนอภาพที่สามารถย่อหรือขยายเวลาได้ เช่น ภาพการเจริญเติบโตของพืช ก็สามารถถ่ายทอดให้เห็นพัฒนาการได้ในระยะเวลาอันสั้น หรือแม้แต่การขยายหรือย่อภาพ เช่น การย่อภาพ เช่นการย่อภาพดวงจันทร์ การขยายภาพเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กโดยใช้กล้องขยาย เป็นต้น

               การเก็บรักษาและการซ่อมแซม
1. ควรตรวจสอบสื่อหลังจากที่ใช้แล้วทุกครั้ง ว่ามีสภาพสมบูรณ์ จำนวนครบถ้วนหรือไม่
2. ควรฝึกให้เด็กช่วยกันเก็บรักษาสื่อของครู โดยฝึกให้เด็กรู้ความหมายของภาพ หรือส่งใช้เป็นสัญลักษณ์แทนหมวดหมู่ประเภทของสื่อ เพื่อเด็กจะได้เก็บเข้าที่ได้ถูกต้อง
3. เก็บสื่อให้เป็นระเบียบและเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะ ตามประเภทของสื่อ
4. ฝึกให้เด็กหยิบสื่อออกมาใช้ได้เอง และเก็บเข้าที่ให้เรียนร้อยทุกครั้ง
5. ควรซ่อมแซมสื่อที่ชำรุด และทำเติมส่วนที่ขาดหายไปให้ครบชุด
                  สรุปจากความหมายของสื่อการสอน ประเภทของสื่อการสอน และคุณค่าของสื่อการสอน ที่กล่าวมานั้น เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยทั้งสิ้น เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็กทั้งหมดล้วนแต่เป็น สื่อการสอนทั้งสิ้น

                 การประเมินการใช้สื่อ
1. สื่อนั้นช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้เพียงใด
2. เด็กชอบสื่อชนิดนั้นเพียงใด
3. สื่อช่วยให้การสอนนั้นสอนได้ตรงกับจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ ที่ตั้งไว้หรือไม่ และถูกต้องตรงตามเนื้อหาหรือไม่ มีความทันสมัยเพียงใด
4. สื่อนั้นช่วยให้เด็กสนใจมากน้อยเพียงใด และสนใจเพราะเหตุใด





สื่อทักษะคณิตศาสตร์


เกมจับคู่ภาพเหมือนจำนวนและตัวเลข



นาฬิกาหรรษา